Last updated: 7 พ.ค. 2567 | 9716 จำนวนผู้เข้าชม |
นักแก้ไขการพูดและนักแก้ไขการได้ยินคือใคร ทำงานอะไร
ขอบข่ายวิชาชีพการแก้ไขการได้ยินและการแก้ไขการพูดแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
1. งานด้านแก้ไขการพูด มีนักแก้ไขการพูด (Speech-Language Pathologist) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการวินิจฉัยความผิดปรกติทางภาษาและการพูด การคัดกรองหาข้อบ่งชี้ ประเมินสภาพความผิดปรกติ ทดสอบความสามารถทางภาษาและการพูดรวมถึงการกลืน แยกประเภทความผิดปรกติต่างๆ บำบัดรักษา แก้ไข และฟื้นฟูสมรรถภาพครอบคลุมได้ทุกประเภทของความผิดปรกติ เช่น พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด พูดติดอ่าง เสียงผิดปรกติ เสียงแหบแห้ง เสียงแตกพร่า พูดช้ากว่าวัย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุของความผิดปกติต่างๆได้แก่ ปากแหว่งเพดานโหว่ ประสาทหูพิการ กลุ่มอาการออทิสติก สติปัญญาอ่อน กลืนลำบาก กลืนผิดวิธี ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกล่องเสียง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง ชาวต่างชาติที่พูดภาษาไทยด้วยสำเนียงแปร่ง เป็นต้น
2. งานด้านโสตสัมผัสวิทยา มีนักแก้ไขการได้ยิน (Audiologist) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยหาพยาธิสภาพของระบบการได้ยินที่เกิดขึ้นตั้งแต่หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน ก้านสมอง และสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินด้วยวิธีปกติและวิธีพิเศษ ตลอดจนตรวจวินิจฉัยหาพยาธิสภาพของระบบที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ตรวจเพื่อค้นหาความผิดปรกติทางการได้ยินในทารกแรกเกิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเพื่อติดตามผลและวางแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน โดยการประเมินผลเพื่อเลือกและใส่เครื่องช่วยฟังให้เหมาะสมกับระดับการสูญเสียการได้ยินของผู้ป่วย
บทบาทหน้าที่หลักของวิชาชีพนี้คือ
1. ดูแลรักษาแก้ไขปัญหาโดยตรง ทั้งการดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาสื่อสารด้านการพูด ภาษาและการได้ยินเป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม การฝึกทางไกลผ่าน Skype การให้แบบหัดการบ้าน การติดตามความเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ของการฝึก การดูแลรักษาอาจทำเฉพาะนักวิชาชีพนี้เท่านั้นหรือทำงานเป็นทีมร่วมกับนักวิชาชีพอื่นๆ
2. ให้ความรู้ คำแนะนำ ปรึกษา และอบรมทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติแก่ผู้ที่มีปัญหาสื่อสารด้านการพูด ภาษาและการได้ยิน ครอบครัว พี่เลี้ยง ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้อง บุคลากรในทีมสหสาขาวิชาชีพ และผู้ที่สนใจ
3. การป้องกันโดยเฉพาะปัญหาการสื่อสารที่ป้องกันได้ เช่น
- ปัญหาเด็กขาดการกระตุ้นทางภาษาและการพูดที่เหมาะสม
- ปัญหาพัฒนาการพูดและภาษาล่าช้ากว่าวัย
- ปัญหาพูดไม่ชัดในเด็กปกติ
- ปัญหาเสียงแหบแห้งในกลุ่มวิชาชีพที่ใช้เสียงผิดอย่างผิดๆ
- ปัญหาสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดังๆหรือนานเกินไป
4. การขยายผลสู่สังคม (Collaborate Social Respond) เพื่อให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน ให้สมาชิกในสังคมมีส่วนร่วมและให้เป็นบริการที่เข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เช่น
- การอบรมเชิงปฏิบัติการวิธีการช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีปัญหาการสื่อสาร/ครอบครัว/ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
- การพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาการสื่อสารและครอบครัวสามารถฝึกหัดทำเองที่บ้านได้เพื่อเพิ่มความถี่ของการฝึกหัด
- การฝึกพูดทางไกลเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการและความถี่ของการฝึกรักษา
- การฝึกบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการคัดกรองปัญหาเพื่อการสืบค้นปัญหาแต่แรกเริ่ม
- การอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทีเกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและสร้างเครือข่ายการทำงาน
- การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวิชาชีพในวาระและโอกาสต่างๆ
13 พ.ย. 2562
13 พ.ย. 2562
13 พ.ย. 2562
13 พ.ย. 2562